วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

"อาหารขยะ" ก่อปัญหาเด็กอ้วน...



ปัญหาเด็กอ้วน กำลังคุกคามสังคมบริโภคนิยมในทุกๆประเทศ จากการศึกษาของศูนย์ควบคุมโรค สหรัฐอเมริกาพบว่า 20% ของนักเรียนเกรด 3 และ 21% ของนักเรียนเกรด 6 ในมหาวิทยาลัยนิวยอร์กมีน้ำหนักเกิน หรืออ้วนโดยในเขตยากจนรอบนครนิวยอร์กมีประชาชน 15% เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งเกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

ปัญหาเด็กอ้วนในภูมิภาคเอเชียพบในประเทศอุตสาหกรรมใหม่ทั่วภูมิภาค สิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งที่ตระหนักถึงปัญหานี้ก่อนใครเพื่อน เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว รัฐมนตรีสาธารณสุข นายยอร์จ เยียวของสิงคโปร์ถึงกับประกาศโผงผางในงานแจกรางวัลประจำปีแก่เด็กปัญญาเลิศของสิงคโปร์ว่า ปัญหาความอ้วนในเด็กนอกจากทำให้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพนานับประการแล้ว ความอ้วนยังคู่กับ “อาการฉลาดน้อย” อีกด้วย

เรื่องมีอยู่ว่า รัฐบาลสิงคโปร์ได้ทำการศึกษาผลการสอบของนักเรียนชั้นประถมปลายของเขาตั้งแต่ปี 1992-1993 แล้วพบความจริงที่น่าตกใจว่า เด็กๆที่เรียนเก่ง ระดับท็อปทั้งหลายของเขา มีเพียงร้อยละ 4-7 เท่านั้นที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ขณะที่เด็กกลุ่มที่อยู่ท้ายแถว สอบตกแล้วตกอีก ถูกพบว่ามีอัตราถึงร้อยละ 15-19 ที่มีปัญหาน้ำหนักเกิน

ผลวิจัยชิ้นนี้พิสูจน์อย่างเด่นชัดในข้อสรุปที่ว่า เด็กยิ่งอ้วนยิ่งมีโอกาสฉลาดน้อย แต่เขาก็พูดติดตลกว่า “อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า ใครๆมีลูกอ้วนและเรียนหนังสือไม่เก่ง ถ้าจับลูกไปรีดน้ำหนักลงเสีย แล้วจะเกิดอาการปัญญาดีขึ้นมาในบัดดล แต่การปล่อยให้เด็กอ้วนเอาอ้วนเอาจะมีผลทำให้เด็กไม่กระปรี้กระเปร่า ทั้งสติปัญญาทึบ และไม่มีความมั่นใจในตัวเองอีกด้วย”

ในประเทศไทยปัญหาเด็กอ้วนแพร่ระบาดมานานกว่า 10 ปีแล้ว และนับวันสถานการณ์จะเลวร้ายลงกว่าเดิม นักวิชาการคนแรกๆที่กล่าวเตือนปัญหาเด็กไทยกำลังอ้วนขึ้นอย่างมาก น่าจะเป็นพญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขณะนั้นเธอทำวิจัยที่โรงเรียนเทศบาลที่หาดใหญ่ ในนักเรียน 1,373 คน พบว่าเด็กมีน้ำหนักเกินมารฐาน 11.5% ขณะที่เด็กกรุงเทพฯมีน้ำหนักเกิน 14% ซึ่งสถิตินี้สูงกว่าเด็กญี่ปุ่นเสียอีก เธอพบความจริงอีกประการหนึ่งว่า ถ้าศึกษาเปรียบเทียบความอ้วนของพ่อแม่เด็กด้วย จะพบว่า ถ้าทั้งพ่อแม่ผอม จะมีลูกอ้วนเพียง 2.6% ขณะที่พ่ออ้วนแม่อ้วนจะมีโอกาสมีลูกอ้วนถึง 23.3% ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เด็กๆเหล่านี้อ้วนจากพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อมอันได้แก่วิถีการกินอยู่ในบ้านกันแน่ เมื่อศึกษาเปรียบเทียบรายได้ของครอบครัวกับความอ้วน ก็พบว่า ครอบครัวยิ่งมีรายได้สูง เด็กก็ยิ่งอ้วน ทำให้เชื่อว่า ความอ้วนของเด็กมาจากความเคยชินในบ้านที่พ่อแม่สร้างกันขึ้นมามากกว่า

คุณหมอลัดดาตั้งข้อสังเกตว่า “สังคมเมืองมีแบบแผนชีวิตที่เปลี่ยนไป เด็กในเมืองกลับถึงบ้านจะมีโทรทัศน์ วิดีโอ เกมกดเป็นพี่เลี้ยง พฤติกรรมของเด็กไทยจะดูทีวีไป กินขนมไป เป็นประเภทอาหารถุง อาหารว่างพวกแป้ง ขนมกรุบกรอบ บะหมี่ซอง และน้ำอัดลม เกิดปัญหาใหม่คือ เด็กอ้วนเพิ่มขึ้น ที่คลินิกเด็ก จะมีพ่อแม่พาเด็กมาหาด้วยเรื่องอ้วนมากขึ้นทุกที”

อีกท่านหนึ่งที่กล่าวย้ำปัญหาความอ้วนของเด็กไทยคือ พญ.พรฑิตา ชัยอำนวย คณะแพทยศาสตร์ รพ.พระมงกุฎเกล้า ที่ชี้ถึงปัญหาเด็กอ้วน ก็จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อ้วน ก่อปัญหาความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดันเลือดสูง เบาหวาน และเกิดโรคข้อเสื่อมก่อนวัยอันสมควร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น