วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

ดอกดาหลา





ดาหลาเป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายข่า มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า (rhizome)
เหง้านี้จะเป็นบริเวณที่เกิดของหน่อดอกและหน่อต้น
ดาหลา 1 ต้น สามารถให้หน่อใหม่ได้ประมาณ 7 หน่อ ในเวลา 1 ปี
ส่วนลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบที่โอบซ้อนกันแน่น เช่นเดียวกับพวกกล้วย
ส่วนนี้คือลำต้นเทียม (pseudostem) ลำต้นเหนือดินสูง 2-3 เมตร มีสีเขียวเข้ม
ใบมีรูปร่างยาวรี กลางใบกว้างแล้วค่อย ๆ เรียวไปหาปลายใบ และฐานใบ ใบไม่มีก้านใบ
ผิวเกลี้ยงทั้งด้านบนและด้านล่าง ใบยาว 30-80 เซ็นติเมตร กว้าง 10-15 เซนติเมตร
ปลายใบแหลม ฐานใบเรียวลาดเข้าหาก้านใบ เส้นกลางใบปรากฏชัดทางด้านล่างของใบ



ดอกดาหลาเป็นดอกช่อมีลักษณะดอกแบบ (head) ประกอบด้วยกลีบประดับ (Bracts)
มี 2 ขนาด ส่วนโคนประกอบด้วยกลีบประดับขนาดใหญ่ มีความกว้างกลีบ 2-3 ซ.ม.
จะมีสีแดงขลิบขาวเรียงซ้อนกันอยู่และจะบานออก ประมาณ 25-30 กลีบ
และมีกลีบประดับขนาดเล็กอยู่ส่วนบนของช่อดอก ความกว้างกลีบประมาณ 1 ซ.ม.
ซึ่งมีสีเดียวกับกลีบประดับขนาดใหญ่ กลีบประดับเล็กนี้จะหุบเข้าเรียงเป็นระดับ
มีประมาณ 300-330 กลีบ ภายในกลีบประดับขนาดใหญ่ที่บานออกจะมีดอกจริงขนาดเล็ก
กลีบดอกสีแดง ซึ่งเป็นดอกสมบูรณ์เพศอยู่จำนวนมาก



ดอกบานเต็มที่จะมีขนาดความกว้างดอกประมาณ 14-16 เซนติเมตร
ความยาวช่อ 10-15 เซนติเมตร มีก้านช่อดอกยาว 30-150 เซนติเมตร
ลักษณะก้านช่อดอกแข็งตรง ดอกจะออกตลอดปีแต่จะให้ดอกดกที่สุดในช่วงฤดูร้อน
คือ เดือนมีนาคม - พฤษภาคม ดอกจะพัฒนามาจากหน่อดอกที่แทงออกมาจากเหง้าใต้ดิน
ลักษณะของหน่อจะมีสีชมพู ที่ปลายหน่อ





...........................................

ไอศกรีม ดอกไม้ เป็นนวัตกรรมจากดอกไม้อัมพวา 5 ชนิด คือ ดาหลา เข็ม กุหลาบมอญ บัว และอัญชัน ซึ่งเป็นดอกไม้พื้นบ้าน ที่มีพบเห็นได้ทั่วไปในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสาคร และผู้ที่ได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา ก็คงจะได้ลองลิ้มชิมรสชาติกันมาแล้ว

ที่มาของไอศกรีมดอกไม้สด มาจากความตั้งใจของสองพี่น้อง ที่ไม่ได้หยุดคิดที่จะพัฒนาสินค้าตัวใหม่ จนได้มาพบกับ “อาจารย์อัจฉรา แก้วน้อย” จากมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งได้คิดค้นการทำสารสกัดเข้มข้นจากดอกไม้ ร่วมกับนักศึกษา สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร โดยได้รับทุนวิจัยตามโครงการ IRPUS ของสกว. ซึ่งทางมหาวิทยาลัย ให้ความสนใจเลือกผลิตภัณฑ์ไอศกรีมของเรามาพัฒนาเป็นไอศกรีมดอกไม้ไทย “ทางอาจารย์อัจฉรา ได้ให้เราเลือกดอกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือ จำนวน 3 ชนิด เพื่อนำมาทำไอศกรีม แต่เนื่องจากเราต้องการให้เกิดความหลากหลายแก่ผู้บริโภค เราจึงขอเลือกดอกไม้ทั้ง 5 ชนิด โดยในครั้งแรกได้มีการทดลองนำมาทำไอศกรีมใน 3 รูปแบบ คือ โยเกิร์ต เชอร์เบต และ นม เพื่อทดลองดูว่าสารสกัดเข้มข้นจากดอกไม้ เข้ากับ ไอศกรีมในรสชาติใดได้บ้าง”

ทั้งนี้ ทีมงานอาจารย์ และนักศึกษาได้ทดลองทำไอศกรีมทั้ง 3 สูตร เพื่อให้เรานำไปให้ลูกค้าได้ทดลองชิมว่าชื่นชอบไอศกรีมดอกไม้ในรสชาติแบบไหน และเนื่องจากดอกไม้ส่วนใหญ่จะไม่มีรสชาติที่โดดเด่น จึงต้องมีส่วนผสมอื่น ๆ ที่สามารถไปด้วยกันได้กับดอกไม้ทั้ง 5 ชนิด เพื่อทำให้ไอศกรีมมีรสชาติที่ดี นอกเหนือจากความแปลกใหม่ ซึ่งความแปลกใหม่ นั้นอาจจะเรียกลูกค้าให้มาทดลองชิมในช่วงแรก แต่ถ้ารสชาติไม่ดี ครั้งต่อไปก็คงจะขายไม่ได้ “เราพยายาม จะหาวิธีว่าเราจะใช้สารสกัดเข้มข้นจากดอกไม้อย่างไรให้เหมาะกับไอศกรีม ซึ่งได้มีพูดคุ๋ยกับทางทีมงานนักศึกษา และอาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่นำสารสกัดมาให้เราอยู่หลายครั้ง และได้ดึงจุดเด่นของดอกไม้แต่ละชนิดออกมา และนำมาพัฒนาที่ละตัว เริ่มจาก ดอกกุหลาบ อาจารย์เลือกใช้ดอกกุหลาบมอญ ซึ่งกุหลาบมีความโดดเด่นเรื่องกลิ่น เราก็เติมส่วนผสมของนมลงไป ซึ่งไอศกรีมกุหลาบที่ได้ จะมีโดดเด่นเรื่องกลิ่นของกุหลาบ บวกกับความหวานของนม ทำให้ได้ไอศกรีมที่มีเนื้อสัมผัสที่นุ่ม”

ดอกอัญชัน จะมีสีที่โดดเด่น เราเลือกใช้มะพร้าวน้ำหอมมาเป็นส่วนผสมของไอศกรีมดอกอัญชัน ซึ่งก็ไปด้วยกันได้ดี เพราะมะพร้าวน้ำหอมเพิ่มความหวานมันให้กับไอศกรีมดอกอัญชัน และมะพร้าวน้ำหอมก็ยังเป็นผลไม้ท้องถิ่นที่มีการปลูกในอัมพวาด้วย ส่วนดอกเข็ม จะมีความหวานของเกษรดอกเข็ม ผสมกับความเปรี้ยวของสตอเบอรี่เชอร์เบต และเติมความน้ำหวานของน้ำตาลสด ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของอัมพวาเข้าไป ทำให้ไอศกรีมดอกเข็มออกมาลงตัวที่สุดในขณะนี้ก็ว่าได้

สำหรับดอกบัว ทำจากสารสกัดเกสรดอกบัว และความมันของบัว และเมื่อเติมเม็ดบัวลงไปทำให้ไอศกรีมเม็ดบัวมีความหวานมันตามธรรมชาติ และดอกดาหลา นั้นมีความโดดเด่นเรื่องของรสชาติที่ออกเผ็ดร้อน และฝาด สุดท้ายเราก็เลือกไวน์ผลไม้มาเป็นส่วนผสม ซึ่งสารสกัดดอกดาหลา เมื่อนำมาทำไอศกรีมและผสมกับไวน์ผลไม้กลับไปด้วยกันได้ดี ลูกค้ากินแล้วชื่นชอบ เพราะได้รสชาติของไวน์ผลไม้ เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าผู้ชาย ที่ได้ชิม

ทั้งนี้ ไอศกรีมดอกไม้ทั้ง 5 ชนิด มีความแตกต่างกัน ทำให้สามารถสนองความต้องการของลูกค้าได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม เช่น ไอศกรีมดาหลา จะเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าผู้ชาย ไอศกรีมดอกเข็มสตอเบอรี่ จะเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าผู้หญิง หรือ ถ้าเป็นไอศกรีมกุหลาบ และบัว จะมีความมันของนม และเม็ดบัว จะเป็นที่ชื่นชอบของวัยรุ่นและ ผู้ใหญ่ แต่ที่สำคัญ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในเทรนด์ของคนรักสุขภาพ เพราะสมุนไพรดอกไม้ ทั้ง 5 ชนิด ทางทีมงานวิจัยได้มีการส่งไปตรวจสอบในห้องทดลอง เพื่อตรวจสอบหาสารที่เป็นอันตราย จากสารเคมี หรือยาฆ่าแมลง และตรวจสอบหาสารที่เป็นประโยชน์ พบว่า ดอกไม้ทั้ง 5 ชนิดมี ไม่มีสารที่เป็นอันตราย และมีสารต้านอนุมูลอิสระในระดับที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังป้องกันโรคความจำเสื่อม มะเร็ง และโรคหัวใจ ได้อีกด้วย




ปัญจรัตน์ เล่าว่า เนื่องจากที่ผ่านมา อัมพวายังไม่มีสินค้าประจำท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ และเมื่อมีโอกาสได้ถวายไอศกรีมดอกไม้อัมพวา ในครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จมายังตลาดน้ำอัมพวา ซึ่งพระองค์ได้ขอให้ไอศกรีมดอกไม้เป็นสินค้าประจำท้องถิ่นของอัมพวา ซึ่ง เราก็เห็นด้วย จึงได้มีแผนที่จะตั้งร้านไอศกรีมดอกไม้ ซึ่งเราตั้งชื่อแบรนด์ว่า “ศรีมาลา” โดยต้องการจะทำให้ร้านไอศกรีมศรีมาลา เป็นร้านไอศกรีมชื่อดังที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ





และถ้าประสบความสำเร็จในการเปิดร้านศรีมาลาที่อัมพวา มีแผนที่จะขยายสาขาในรูปแบบของแฟรนไชส์ ร้านไอศกรีมศรีมาลา ในท้องที่อื่นๆ รวมถึงการขยายตลาดร้านไอศกรีมศรีมาลา ไปเปิดในต่างประเทศด้วย โดยประเทศที่มองไว้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น และ สิงคโปร์ เพราะทั้งสองประเทศนี้ จะมีกลุ่มของคนที่สนใจในเรื่องของอาหารเพื่อสุขภาพอยู่มาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น